คืนนี้ชวนดูดาว! 7เดือน7 “วันทานาบาตะ” ตำนานความรักชาวญี่ปุ่น
วันที่ 7 ก.ค. 66 เพจเฟซบุ๊ก NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ โพสต์ข้อความวันทานาบาตะ วันที่ 7 เดือน 7 โดยระบุว่า “7 เดือน 7 วันทานาบาตะ ตำนานความรักจากดวงดาว…ถ้าพูดถึง วันวาเลนไทน์ หรือ วันแห่งความรัก แน่นอนทุกคนรู้ว่าคือ วันที่ 14 กุมภาพันธ์ แต่ในประเทศญี่ปุ่น วันแห่งความรักคือ วันที่ 7 เดือน 7 หรือที่ชาวญี่ปุ่นเรียกว่า วันทานาบาตะ (Tanabata / 七夕) ซึ่งตำนานวันแห่งความรักของญี่ปุ่น เป็นเรื่องราวความรักของ “หนุ่มเลี้ยงวัวกับสาวทอผ้า” นิทานเรื่องนี้มีความเชื่อมโยงกับกลุ่มดาวบนท้องฟ้า 3 กลุ่มด้วยกัน คือ กลุ่มดาวพิณ กลุ่มดาวหงส์ และกลุ่มดาวนกอินทรี
นอกจากนี้ตำนานวันทานาบาตะ ยังมีต้นกำเนิดมาจากนิทานเรื่อง 7 นางฟ้าของประเทศจีนอีกด้วย สามารถอ่านเรื่องราวของตำนานได้ในคอมเมนต์ หัวค่ำช่วงนี้ จะสังเกตเห็นกลุ่มดาวสว่างเด่นทั้ง 3 กลุ่มดาวนี้ ปรากฏขึ้นมาจากขอบฟ้าทางทิศตะวันออก สังเกตการณ์ได้ตลอดทั้งคืน กลุ่มดาวทั้งสามจะมีความสำคัญอย่างไรในทางดาราศาสตร์ และน่าสนใจยังไงบ้าง มาติดตามกันครับ
สามเหลี่ยมฤดูร้อน (Summer Triangle)
หากเราลองแหงนหน้ามองขึ้นไปบนฟ้าในค่ำคืนนี้ จะเห็นดาวสว่างสามดวง เรียงรายกันคล้ายกับสามเหลี่ยมมุมฉากอยู่บนท้องฟ้า เราเรียกสามเหลี่ยมนี้ว่า “สามเหลี่ยมฤดูร้อน” (Summer Triangle)
สามเหลี่ยมฤดูร้อนจัดเป็น “ดาวเรียงเด่น” (asterism) ที่รู้จักกันดีอีกกลุ่มหนึ่ง เนื่องจากสามเหลี่ยมนี้สามารถสังเกตเห็นได้ง่าย แม้ในเมืองที่เต็มไปด้วยมลภาวะทางแสง และจะโผล่พ้นขอบฟ้าในช่วงที่ตรงกับฤดูร้อนในซีกโลกเหนือ แสดงถึงการมาของฤดูร้อน อันเป็นที่มาของชื่อ ดาวสว่างสามดวงที่ประกอบขึ้นเป็นสามเหลี่ยมฤดูร้อน ได้แก่ดาว Vega (บน) Deneb (ซ้าย) และ Altair (ขวา) ซึ่งเป็นดาวที่สว่างที่สุดในกลุ่มดาวพิณ (Lyra) หงส์ (Cygnus) และ นกอินทรี (Aquila) ตามลำดับ
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น